วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ข้อควรพิจารณาก่อนส่งเครื่องมือวัดไปสอบเทียบ



          เราได้พูดถึงใบรายงานผลการสอบเทียบที่เราได้รับมาภายหลังส่งเครื่องมือวัดไปรับการสอบเทียบนั้น นอกเหนือจากจะใช้เอกสารนั้นเพื่อยืนยันว่าเครื่องมือวัดนั้นๆได้รับการสอบเทียบแล้ว รายละเอียดของใบรายงานผลการสอบเทียบ ยังนำมาพิจารณาใช้เป็นประโยชน์ได้ เช่น ค่าความไม่แน่นอนของการวัด , ค่าแก้ , ค่าเลื่อน (Drift ) และความเสถียร ( Stability ) ของเครื่อง เพื่อที่จะได้พิจารณาว่าค่าต่างๆเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ที่เราจะยอมรับหรือไม่ มีโอกาสที่ค่าเหล่านี้จะหลุดออกนอกเกณฑ์การยอมรับหรือไม่ เพื่อที่จะได้กำหนดมาตรการในการเฝ้าระวัง กำหนดวิธีการใช้งาน ตลอดจนการตรวจสอบระหว่างใช้งาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากเครื่องมือวัด มีผลการวัดออกนอกเกณฑ์การยอมรับที่กำหนดด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจส่งเครื่องมือวัดไปทำการสอบเทียบ ที่ห้องปฏิบัติการสอบเทียบภายนอกนั้น มีสิ่งที่เราควรจะต้องพิจารณาและคำนึงถึงก่อนส่งเครื่องมือวัดไปสอบเทียบทุกครั้ง เพื่อที่ว่าจะได้ผลการสอบเทียบที่เป็นไปตามความต้องการของเรา และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย โดยมีข้อแนะนำดังนี้
1. กำหนดเกณฑ์การยอมรับของเครื่องมือวัดว่ามีค่าเท่าใด เช่น เครื่องมือวัดภายหลังสอบเทียบแล้ว ควรมีค่าความไม่แน่นอนของการวัดอยู่ในเกณฑ์ใด เช่น + 0.5 C หรือ + 0.5 ?m เป็นต้น เพื่อที่ว่า เมื่อนำเครื่องมือวัดไปใช้ควบคุมการผลิต จะไม่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายของผลิตภัณฑ์ หรือเมื่อนำเครื่องมือวัดไปใช้เป็น working standard มีค่าความไม่แน่นอนของการวัดอยู่ในเกณฑ์ที่เราต้องการ ทั้งนี้เพราะค่าความไม่แน่นอนจะสะสม (accumulate) ทำให้เครื่องมือวัดที่นำมาสอบเทียบกับ working standardมีค่าความไม่แน่นอนของการวัดเพิ่มขึ้น
2. เราต้องการรายงานผลการสอบเทียบเป็นอย่างไร เช่น เป็นจุดหรือเป็นช่วง (range) พร้อมด้วยรายละเอียดของค่าที่ได้จากการทำ interpolation หรือไม่ เพื่อที่เมื่อได้รายงานผลกลับมาจะใช้ได้ตามต้องการโดยไม่มีปัญหา
3. หลังจากกำหนด ค่าความไม่แน่นอนที่ยอมรับแล้ว ให้ตรวจเช็ครายชื่อห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่ได้รับการรับรองความสามารถว่าห้องปฏิบัติการใด มี Scope และ Best Measurement Capability เป็นไปตามเกณฑ์ที่ต้องการบ้าง มีกี่แห่ง เพื่อที่จะคัดเลือกว่าจะส่งไปที่ใดโดยพิจารณา ค่าบริการ ระยะเวลา และสถานที่ ที่เหมาะสม
ผู้เขียนหวังว่า หากทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการส่งเครื่องมือวัดไปสอบเทียบ ได้พิจารณาประเด็นเหล่านี้ก่อนการส่งเครื่องมือวัดไปรับการสอบเทียบ ก็จะได้รับผลประโยชน์คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่เสียไป


แหล่งที่มาของข้อมูล    : สมท.สารปีที่ 9 ISSN 0859-5348 , คุณปรีชา ดิษเสถียร , น.3, มกราคม มีนาคม 2547

เกณฑ์การกำหนดความถี่ของการสอบเทียบ



         หลายองค์กรมักจะประสบปัญหาอย่างหนึ่ง คือไม่ทราบว่าจะกำหนดความถี่ของการสอบเทียบ อย่างไรดีจึงจะถือว่าเหมาะสม โดยทั่วไปจึงมักจะกำหนดระยะเวลาการสอบเทียบของเครื่องมือวัดในครั้งแรกที่ 6 เดือน หรือ 12 เดือนต่อการสอบเทียบหนึ่งครั้ง สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณากำหนดความถี่ของการสอบเทียบอุปกรณ์นั้น โดยทั่วไปจะพิจารณาจากองค์ประกอบเหล่านี้
1. ประวัติการสอบเทียบของอุปกรณ์ หากประวัติการสอบเทียบย้อนหลังประมาณ 2 – 3 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าความถูกต้องยังคงอยู่ในย่าน หรือไม่มีแนวโน้มแสดงให้เห็นว่าเริ่มออกนอกย่านที่กำหนด เราสามารถที่จะยืดระยะเวลาการสอบเทียบออกไปได้ แต่ในทางกลับกันหากประวัติการสอบเทียบแสดงให้เห็นว่าผลการสอบเทียบออกนอกย่านที่กำหนด ระยะเวลาการสอบเทียบต้องหดลง แม้ว่าจะมีประวัติเพียงครั้งเดียวก็ตาม
2. ลักษณะการใช้งานในจุดวิกฤตหรือไม่ เครื่องมือวัดที่ถูกติดตั้งใช้งาน ณ จุดวิกฤตของกระบวนการผลิต ย่อมต้องมีความถี่ในการสอบเทียบมากกว่าเครื่องมือวัดที่ติดตั้ง ณ จุดใช้งานทั่วไป
3. การบำรุงรักษา เครื่องมือวัดที่ผู้ใช้งานมีการเก็บดูแลบำรุงรักษาอย่างดี คาบระยะเวลาการสอบเทียบก็อาจจะนานกว่าเครื่องมือวัดที่ผู้ใช้งานไม่เคยเหลียวแล
4. ความถี่ในการใช้งาน สำหรับเครื่องมือวัดที่มีความถี่ในการใช้งานบ่อย โอกาสที่จะทำให้เครื่องมือวัดนั้นออกนอกย่านที่กำหนดจะมีมากกว่าเครื่องมือวัดที่มีความถี่ในการใช้งานน้อยกว่า ดังนั้นความถี่ในการสอบเทียบของเครื่องมือวัดเหล่านี้ก็ย่อมจะต้องมีมากกว่าด้วยเช่นกัน
5. พิจารณาจากประเภทของอุปกรณ์ กล่าวคือ อุปกรณ์ที่เรียกว่า “ * Active Equipment “ จะมีความถี่ในการสอบเทียบมากกว่าอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ ** Passive Equipment ”
* Active Equipment คือ เครื่องมือวัดที่ต้องมีไฟเลี้ยง เช่น เครื่องชั่ง , Digital Multimeter เป็นต้น
** Passive Equipment คือ เครื่องมือที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่ต้องอาศัย
Bias supply หรือไฟเลี้ยง เช่น ตุ้มน้ำหนัก , Vernier Caliper เป็นต้น
 
แหล่งที่มาของข้อมูล
EAL – G12:1995 Traceability of Measuring and Test Equipment to National Standards
บุรินทร์ ไตรชินธนโชติ , เทคนิค &วิธีการในงานสอบเทียบเครื่องมือวัด , Edition 1 Nov. 2543