วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

แล้วทำไมต้องสอบเทียบเครื่องมือวัดฯด้วยละ

แล้วทำไมต้องสอบเทียบเครื่องมือวัดฯด้วยละ

 
           คำถามยอดฮิตที่มีคนตั้งคำถามมากมายว่าทำไมต้องทำการสอบเทียบเครื่อมือวัด ก่อนอื่นต้องขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและใกล้ตัวเราที่สุด เช่น นาฬิกาข้อมือ ที่ใช้กันอยู่ทุกวัน เคยสังเกตบ้างไหมว่า ในตอนที่ซื้อนาฬิกามา เราจะทำการปรับตั้งเวลา ให้ถูกต้องกับเวลามาตรฐาน แต่่เมื่อใช้ไปซักพัก นาฬิกาอาจบอกเวลาช้าหรือเร็วกว่าปกติ ทั้งที่แบตเตอร์รี่ของนาฬิกายังอยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดี นอกจากนี้บ่อยครั้งที่ ต้องทำการตรวจสอบว่านาฬิกายังคงบอกเวลาที่ถูกต้องอยู่หรือไม่ โดยอาจเทียบกับเวลาเคารพธงชาตื 08.00 น. หรือ 18.00 น. หรือเทียบกับเวลามาตรฐาน ที่หมายเลขโทรศัพท์ 181 ซึ่งการตรวจสอบนี้จะกระทำเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่า นาฬิกาของเรายังคงบอกเวลาได้ถูกต้องอยู่เสมอ ทั้งนี้เนื่องจากว่าถ้านาฬิกาสามารถบอกเวลา ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ย่อมจะไม่กระทบต่อกิจกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวัน และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานต่าง ๆ ประสพความสำเร็จได้อย่างราบรื่น เช่น การประชุม การนัดหมาย หรือการปฏิบัติงานต่าง ๆ เป็นต้น
 
         เครื่องมือวัดที่ใช้ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสหกรรมก็เช่นกัน โรงงานอุตสาหกรรมก็จะมี กระบวนการในการตรวจสอบและสอบเทียบเครื่องมือวัดให้มีความถูกต้องตามขอบข่าย ความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้และกำหนดไว้ เพื่อให้ได้มาตรฐาาก่อนนำออกจำหน่าย เมื่อภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ สั่งซื้อเครื่องมือดังกล่าว ก็จะได้รับรองผลการตรวจสอบ (inspection certificate) หรือใบรับรองผลการสอบเทียบ (colibration certificate) เครื่องมือวัดนั้น ๆ มาด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในการสั่งซื้อ โดยในใบรับรองผลการตรวจสอบหรือผลการสอบเทียบจะระบุสมบัติเฉพาะต่าง ๆ ของเครื่องมือ เช่น พิสัยการวัด (range) ค่าความละเอียด (resolution) ค่าความถูกต้อง (accuracy) และสภาวะแวดล้อม ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้นที่เครื่องมือสามารถทำงานได้ เป็นต้น
 
         แต่เครื่องมือถูกนำไปใช้งานระยะหนึ่ง อายุของส่วนประกอบและเครื่องมือวัดที่ใช้งาน อาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงหรือความคลาดเคลื่อนของผลการวัดที่เกิดขึ้นนี้ อาจเกิดจากการ Drift หรือการลอยเลื่อน (มอก. 235 เล่ม 14) หมายถึง การแปรผันอย่างช้า ๆ ตามเวลาของลักษณะทางมาตรวิทยาของเครื่องมือวัด อันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ไฟฟ้า เคมี หรือช่างกล เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้งานเครื่องมือวัดจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเสื่อมสภาพของเครื่องมือวัด ยังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการใช้งานและการเก็บรักษาอีกด้วย ฉะนั้น เมื่อเครื่องมือวัดอยู่ในสภาวะดังกล่าว สิ่งที่ตามมาคือเครื่องมือวัดที่เคยบอกค่าการวัดที่ถูกต้อง อาจบอกค่าที่คลาดเคลื่อนไปจากเดิม ส่งผลให้ผลการวัดที่ได้รับไม่น่าเชื่อถือ หรือหากนำเครื่องมือดีงกล่าวไปใช้งานในกระบวนการผลิตย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพของ การออกแบบและกระบวนการผลิต การ Drift หรือการเปลี่ยนแปลงของเครื่องมือวัด ไม่สามารถกำจัดได้ แต่สามารถที่จะตรวจพบและแก้ไขได้โดยผ่านกระบวนการสอบเทียบ ด้วยการใช้ตัวมาตรฐานการวัดที่สามารถสอบกลับได้สู่มาตรฐานแห่งชาติเพื่อสอบเทียบ ให้กับเครื่องมือวัดที่ใช้ในกระบวนการผลิต
 
         ดังนั้นการสอบเทียบจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่ช่วยสร้างความมั่นใจในผลการวัดของเครื่องมือวัดทุก ๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือวัดที่ใช้ในกระบวนการผลิต การทดสอบ และการวิเคราะห์ต่าง ๆ เพราะองค์ประกอบ ที่สำคัญที่สุดในการที่จะทำให้ผลการวัดที่เกิดขึ้นเป็นที่เชื่อถือได้ คือการใช้เครื่องมือวัด ที่มีความถูกต้องและแม่นยำ เหมาะสมกับการปฏิบัติงานนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น